บพข. ลงพื้นที่ติดตามการใช้งาน SGD Platform ผลผลิตจากการวิจัยเพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มอบแห้งและแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ ข้าวแต๋นเสบียง จ.ลำปาง

เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม พร้อมคณะอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โครงการ “แพลตฟอร์มไอโอทีสำหรับการตรวจวัดเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน” ณ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้าวแต๋นเสบียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมี ผศ.ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมคณะผู้วิจัย และ คุณสุรเชษฐ เทพปินตา กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้าวแต๋นเสบียง ร่วมให้การต้อนรับ

=====================
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้าวแต๋นเสบียง เป็น 1 ใน 24 ผู้ประกอบการ ที่สนใจเข้าร่วมนำร่องทดสอบการใช้งาน SGD Platform โดยเป็นโรงงานผลิตข้าวแต๋น ที่ใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ในกระบวนการอบแห้งและแปรรูป เน้นผลิตข้าวแต๋นในรูปแบบแผ่นดิบและจัดจำหน่ายแบบขายส่ง
ปัจจุบันมีการผลิตข้าวแต๋น 6 วันต่อสัปดาห์ ปริมาณเฉลี่ย 200 กิโลกรัมต่อวัน ในขณะที่กำลังการผลิตที่สามารถทำได้อยู่ที่ 300 กิโลกรัมต่อวัน หากกรณีมีคำสั่งซื้อเพิ่ม หรือลูกค้าต้องการเร่งออเดอร์ก็สามารถผลิตได้ทุกวัน โดยลูกค้าของโรงงานมีทั้งทั้งตลาดในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศชิลี อิสราเอล เป็นต้น

👍👍จากการติดตามการทดสอบใช้งาน SGD Platform ของข้าวแต๋นเสบียง และสถานประกอบการนำร่อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 24 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า อุปกรณ์ IoTs ที่ติดตั้งเพื่อทำการตรวจวัดข้อมูลสภาวะต่างๆ ภายในพาราโบลาโดม มีความเหมาะสม สามารถทำงานได้ภายใต้อุณหภูมิสูง และมีความแม่นยำ 90% ในส่วน Data Center สามารถประมวลและรายงานผลได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 วินาที ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการติดตามข้อมูล ประเมิน และตัดสินใจ สั่งการอบแห้งได้จากข้อมูล Real time

📱 สำหรับโปรแกรมอบแห้งผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นในส่วนของการควบคุมและสั่งการทำงานของพัดลมระบายอากาศนั้น มีการทำงานเป็นไปตามค่าอุณหภูมิและความชื้นอากาศที่คณะวิจัยได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นค่าเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ส่วนการควบคุมพัดลมระบายอากาศแบบกำหนดค่าเอง ก็สามารถทำงานได้รองรับตามที่ผู้ใช้ต้องการเช่นเดียวกัน📱

ผลผลิตจากโครงการนี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการควบคุมคุณภาพของการอบแห้งแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการวางแผนการผลิตด้วยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ อีกทั้ง ยังนำไปสู่การยกระดับวิถีชุมชนที่มีรูปแบบการผลิตแบบเดิมไปสู่การผลิตแบบใหม่ที่มีการนำ Digital Technology มาปรับใช้ ส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความเข็มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน SGD Application อยู่ระหว่างทดสอบการใช้งาน

✅✅ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อทดลองใช้งาน✅ ฟรี!! ได้ทั้งระบบ📲 Android และ 📲iOS

=============================
โครงการแพลตฟอร์มไอโอทีสำหรับการตรวจวัดเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน
สนับสนุนโดย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
บริหารและดำเนินงานโดย : ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่